Wednesday, October 22, 2008

update 23-Oct-2008

เมื่อวานนี้น้องปอนด์ไปที่ รพ.รามา เพื่อให้คุณหมอดูพัฒนาการ และเปลี่ยนท่อที่คอ หลังจากที่ได้เข้าไปนอนพักรักษาที่ รพ.รามา เมื่อช่วงเดือน มิ.ย. 2551 ที่ผ่านมา เป็นเวลาราว 2 อาทิตย์ ได้มีทีมแพทย์ที่เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ มาวินิจฉัย และได้แนะนำให้ใช้เครื่องต่างๆ เพิ่มเติม จึงได้ทำให้น้องปอนด์มีสภาพร่างกายที่ดีขึ้นตามลำดับ
ปัจจุบัน น้องปอนด์ยังคงหายใจทางคอ และให้อาหารทางสายยางเข้าที่ท้อง ในแต่ละวันก็สามารถหายใจเองได้ในช่วงเช็ดตัวและทำกิจกรรมต่างๆ
อาหารให้เป็นอาหารเหลว สูตร รพ.รามา วันละ 400 cc x 4 ครั้ง ดูดเสมหะวันละ 4-5 ครั้ง และทำกายภาพบำบัดกันเองที่บ้าน คุณหมอต่างทักว่าน้องปอนด์อ้วนขึ้น จึงอาจจะต้องปรับโภชนาการกันใหม่ และต้องพยายามนั่งให้มากขึ้น แต่ที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีอาการไม่สบายหรืออื่นๆ นับว่าเราดูแลกันได้ดีพอสมควร

Monday, March 17, 2008

17-Mar-2008

หลังจากอยู่ในห้องไอซียูมานานกว่า 6 สัปดาห์ น้องปอนด์ก็มีอาการดีขึ้น วันนี้คุณหมอเปลี่ยนท่อที่คอให้เป็นอันใหม่ และใช้เพียงเครื่องออกซิเจนมาเสียบไว้ให้ได้รับออกซิเจนได้ในปริมาณที่มากพอ
อาการอื่นๆ ก็เป็นที่น่าพอใจ สภาพจิตใจของน้องปอนด์ถือว่าดีมาก ยิ้มแย้มแจ่มใส และสื่อสารกับคนอื่นๆ ได้ด้วยภาษาใบ้ และการเขียน
คุณหมอบอกว่า ต้องการให้ไปที่โรงพยาบาลรามาฯ เพื่อให้อาจารย์หมอตรวจดูเพิ่มเติม และจะขอให้คุณหมออีกท่านนำเนื้อไปตรวจ เพื่อจะหาทางรักษาได้อย่างถูกต้องต่อไป แต่รอมานานหลายสัปดาห์ก็ยังไม่มีห้องว่างที่จะย้ายน้องปอนด์เข้าไปได้สักที คุณหมอที่นี่เลยบอกว่า ถ้ายังไงอีกไม่กี่วันคงสามารถออกไปอยู่ที่บ้านได้แล้ว และก็ถ้าแข็งแรงขึ้นค่อยไปหาอาจารย์หมอที่รามาก็ได้
พวกเราทุกคนในครอบครัวต่างก็ดีใจ เพราะต้องใช้ชีวิตอยู่ในโรงพยาบาลราวกับบ้าน และที่ผ่านมา เสียค่าใช้จ่ายไปเยอะมากๆๆ
อย่างไรก็ตาม ต้องขอขอบคุณสมาชิกทุกคนในครอบครัวผมที่เป็นกำลังใจให้กันและกันเป็นอย่างดี และขอขอบคุณสำหรับทุกๆ ท่านที่ส่งกำลังใจมาให้ครับ

Saturday, March 1, 2008

27-Feb-2008 กลับเข้าห้อง ไอซียู อีกครั้ง

ในช่วงที่อยู่ในห้องธรรมดา พวกเราต่างดีใจ นึกว่าจะได้กลับบ้านซะที แต่น้องปอนด์ก็ยังคงมีเสมหะ แต่อาการของปอดก็หายจากติดเชื้อแล้ว

เมื่อวันจันทร์ที่ 25 ที่ผ่านมา คุณหมอได้เปลี่ยนท่อที่คอเป็นแบบโลหะ เพื่อที่พร้อมจะให้เอากลับไปใช้ที่บ้านได้ และก็อยากรอดูอาการให้เสมหะหมดไปมากกว่านี้ก่อนจึงจะให้กลับบ้านได้

สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น วันนั้นแม่น้องปอนด์ไปทำงานแล้ว อาอี๊น้องปอนด์เฝ้าอยู่คนเดียว ช่วงเวลา 10 โมงเช้าผมได้รับโทรศัพท์ บอกว่าช่วยเข้ามาที่โรงพยาบาลเร็วๆ ผมก็รีบขับรถออกจากบ้านทันที ไปถึง เห็นน้องปอนด์ระดับออกซิเจนลดลงต่ำอีกเพราะเสมหะอุดตันหลอดลม เข้าใจว่ามีอาการติดเชื้อของปอดอีกแล้ว

คุณหมอจำเป็นต้องเปลี่ยนท่อที่คอกลับไปเป็นแบบพลาสติกเหมือนเดิม เนื่องจากต้องกลับไปต่อกับเครื่องช่วยหายใจอีกครั้ง เพราะว่าท่อโลหะไม่สามารถเสียบเข้าเครื่องช่วยหายใจได้ โชคไม่เข้าข้างที่ท่อแบบพลาสติกไม่มีขนาดที่เหมาะกับน้องปอนด์ เพราะมีขนาดที่ยาวเกินไป คุณหมอสั่งย้ายน้องปอนด์กลับเข้าไปในห้องไอซียูอีกครั้ง

หลังจากทีมคุณหมอ และพยาบาลได้ช่วยกันแก้ไขปัญหาเสมหะอุดตันหลอดลมที่คอ น้องปอนด์ก็มีอาการที่ดีขึ้น ท่อที่มีขนาดพอดีถูกส่งมาให้ช่วงบ่ายๆ และได้ถูกเปลี่ยนให้น้องปอนด์ในช่วงเช้าวันที่ 28 แต่น่าเสียดายที่น้องปอนด์จะต้องกลับเข้าไปในไอซียู

ไม่เป็นไร เพราะพี่ๆ พยาบาลที่ไอซียู รู้จักสนิทสนมกับน้องปอนด์เป็นอย่างดี และบอกตามตรงว่า ทีมพยาบาลของไอซียู เก่งกว่าที่แผนกเด็กมากๆๆ มีความเอาใจใส่ที่ดีมากกว่ามากๆๆ

ขณะที่ผมพิมพ์อยู่นี้ เข้าสู่เช้าของวันที่ 2 มี.ค. แล้ว ผมได้เข้าไปเยี่ยมน้องปอนด์เมื่อตอนเกือบสี่ทุ่มของวันที่ 1 ที่ผ่านมา น้องปอนด์อาการดีขึ้นมาก ใช้เครื่องช่วยหายใจในอัตราที่ต่ำลง และคาดว่าวันนี้คงจะถอดน้ำเกลือออกได้แล้ว

พวกเราทุกคนในครอบครัวต่างให้กำลังใจน้องปอนด์ และก็บอกว่า เอานะ.. รีบๆ หายไวๆ นะ.. เราจะได้พาน้องปอนด์กลับบ้านกัน

หวังว่าในการเขียนบันทึกครั้งต่อไป จะมีความคืบหน้าในเชิงที่ดีขึ้น และผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า น้องปอนด์จะได้มาเขียนเล่าประสบการณ์ด้วยตัวของน้องปอนด์เอง ให้กับเพื่อนๆ ท่านอื่นๆ ฟังเพื่อเป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำ นะครับ

21-Feb-2008 เจาะท้องเพื่อให้อาหารเข้ากระเพาะ

ลืมเล่าไปว่า เมื่อวันที่ 21 ถ้าจำไม่ผิด น้องปอนด์ได้เจาะท้องแล้ว และถอดสายที่ให้อาหารผ่านทางจมูกออก

ในช่วงที่ผ่านมา การดูดเสมหะผ่านทางคอช่วยได้มากขึ้น และคุณหมอก็บอกว่า ถ้าอาการดีขึ้นแล้ว อีกไม่กี่วันก็คงกลับบ้านได้ พวกเราต่างก็ดีใจ และคุณหมอบอกว่าจะต้องหาเครื่องดูดเสมหะไว้ที่บ้าน รวมทั้งเครื่องผลิตออกซิเจนด้วย เพราะอาจต้องใช้เวลาฉุกเฉิน

ระดับต่างๆ ค่อนข้างดี แต่น้องปอนด์จะไม่ยอมกลืนน้ำลาย ส่วนเสมหะจะมีทุกๆ สองสามชั่วโมงจึงต้องดูดเป็นประจำ ถ้าหากมีเสมหะเยอะ หายใจไม่สะดวก ระดับออกซิเจนก็จะลดต่ำลงกว่า 90 จึงต้องรีบดูด พี่สาวผมซึ่งเป็นอาอี๊ของน้องปอนด์ฝึกฝนการดูดเสมหะได้เป็นอย่างดี

ช่วงที่อยู่ในห้องธรรมดา พวกเราพยายามช่วยกันเองมากขึ้น เพราะว่าพยาบาลในแผนกธรรมดานี้ ก็ธรรมดาจริงๆ โดยเฉพาะในช่วงกลางคืนจะมีประจำอยู่น้อย พวกเราจึงต้องดูดเสมหะกันเอง

พวกเรายังไม่ได้สรุปว่าจะซื้อเครื่องรุ่นไหน เพราะบอกตรงๆ ว่าค่าใช้จ่ายแพงมาก รวมๆ แล้วก็ 60,000 กว่าบาท ค่าใช้จ่ายตลอดสามอาทิตย์กว่าที่ผ่านมาร่วมเป็นเงินกว่า 400,000 บาทเข้าไปแล้ว แต่ทำยังไงได้ เราต้องการให้น้องปอนด์ดีขึ้นเท่านั้นเอง..

22-Feb-2008 วันเกิดของอาอี๊ น้องปอนด์

เวลาผ่านมาสามสัปดาห์ น้องปอนด์ได้ออกจากห้องไอซียูแล้วเมื่อวันที่ 16 หรือ 17 จำไม่ได้แล้ว และมาอยู่ในห้องพิเศษ ซึ่งดีตรงที่มีห้องน้ำในตัว มีตู้เย็น และสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน

วันนี้มีการฉลองเล็กๆ เพราะเป็นวันครบรอบวันเกิดของอาอี๊ น้องปอนด์ในวันนี้มีท่อช่วยหายใจอยู่ที่คอ อาการต่างๆ ดีขึ้น ไม่ต้องมีเครื่องช่วยหายใจอีกแล้ว แต่น้องปอนด์ยังมีอาการคออักเสบ กินอาหารทางปากไม่ได้ และยังคงต้องใช้การให้อาหารผ่านทางสายยางที่สอดเข้าทางจมูกอยู่

คุณหมอแนะนำว่าควรจะเจาะท่ออีกท่อหนึ่งที่ท้อง เพื่อฉีดอาหารตรงเข้ากระเพาะอาหารได้เลย และจะดีกว่าในช่วงนี้ พวกเราไม่ต้องคิดอะไรกันอีกแล้ว หมอจะว่ายังไงก็เอาเลย

เป็นการฉลองวันเกิดที่เงียบๆ ระหว่างพวกเราในครอบครัวเล็กๆ คุณแม่ของผม ซึ่งเป็นอาม่าของน้องปอนด์ทำโกยซีหมี่มาให้ และผมซื้อขนมเค้กมา 2 ปอนด์ น้องปอนด์ไม่สามารถร่วมวงกับพวกเราได้ พวกเราต่างรู้สึกเสียใจ แต่ก็ไม่อยากให้น้องปอนด์ต้องรู้สึกเศร้าไปด้วยจึงพยายามทำบรรยากาศให้ครื้นเครงนิดหน่อย

น้องปอนด์ได้เคยเขียนลงในสมุด ในช่วงที่ดีขึ้นว่า อยากกินปลาดุกฟู ปกติน้องปอนด์ชอบกินอาหารหรือขนมกรอบๆ ทุกคนได้แต่หวังว่า เดี๋ยวน้องปอนด์หายแล้ว จะพาไปกินของอร่อยๆ ที่ได้รับรู้รสชาด เพราะที่ผ่านมาสามสัปดาห์ น้องปอนด์ได้แต่รับอาหารทางท่อ เป็นผักบดกับอะไรบางอย่าง

15-Feb-2008 เจาะคอช่วยหายใจ

ตั้งแต่วันแรกๆ คุณหมอได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ถ้าจำเป็นจริงๆ เราอาจจะต้องเจาะคอช่วยหายใจ และจะทำให้ดูดเสมหะได้ง่ายขึ้น พวกเราต่างก็ไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น และไม่อยากให้หลานของเราต้องมีรูที่คอ มันน่าทรมานเหลือเกิน

ผมลองสอบถามข้อมูลจากสมาชิกในห้องพันธ์ทิพย์ ก็ได้รับข้อมูลมากมาย และที่สำคัญคือได้กำลังใจมากมายด้วย ต้องขอขอบคุณเป็นอย่างมาก ผมได้นำโน้ตบุ๊คไปให้น้องปอนด์อ่านด้วย ในคืนก่อนที่น้องปอนด์จะต้องเจาะคอ เราเชื่อคุณหมอเพราะจากข้อมูลที่ได้รับมา การเจาะคอเป็นทางออกเดียวที่เหลืออยู่ เพราะน้องปอนด์ยังอาการไม่ดีขึ้น และได้สอดท่อช่วยหายใจผ่านทางปากมาครบ สองสัปดาห์แล้ว การสอดท่อผ่านทางคอ ทำให้คออักเสบ และอาจเกิดพังผืดขึ้นได้ และจะมีปัญหาอื่นตามมา จึงตกลง เจาะคอกัน

การเจาะคอมีขึ้นในช่วงเช้า ใช้เวลาไม่นานก็เสร็จเรียบร้อย น้องปอนด์นอนหลับเกือบตลอดวัน เพราะฤทธิ์ยาสลบ และความเจ็บ วันนี้ผมไม่กล้ามองน้องปอนด์เลย เพราะพาลน้ำตาจะไหลทุกทีสิน่า.. แต่พวกเราทุกคนในครอบครัวก็ได้แต่หวังว่า เอาน่า.. แล้วทุกอย่างจะดีขึ้นเรื่อยๆนะ

7-Feb-2008 ครบรอบหนึ่งอาทิตย์ในห้องไอซียู

ผมเชื่อว่าบันทึกนี้ คงจะเป็นสิ่งเตือนใจของผม และครอบครัวของผมเองในวันข้างหน้า ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เรากำลังจะต้องผ่านพ้นไปให้ได้ และคงไม่มีใครอยากให้สิ่งที่น่าเศร้าใจอย่างนี้เกิดขึ้นแน่นอน

หลานของผม น้องปอนด์ ได้เข้าห้องไอซียู ตั้งแต่วันที่ 31 ม.ค. 2551 ได้ใช้เครื่องช่วยหายใจ และต้องอาศัยการดูดเสมหะเกือบทุกๆ สองชั่วโมงตลอดช่วงเวลาหนึ่งอาทิตย์แรก อาการของน้องปอนด์ดีขึ้นเล็กน้อย ค่อนจะอยู่ไปในทางทรงๆ มากกว่า คุณหมอวินิจฉัยว่าน้องปอนด์เป็นปอดติดเชื้อ จึงได้ให้ยาฆ่าเชื้อตลอดสัปดาห์แรก น้องปอนด์รับอาหารผ่านทางน้ำเกลือ และได้รับอาหารเหลวโดยสอดท่อเข้าทางจมูก ดูสภาพแล้วน่าสงสารมากๆ สำหรับเด็กอายุ 11 ขวบที่ปกติแม้จะต้องนั่งรถเข็น เพราะเป็นเด็กที่มีโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงมาแต่เกิด แต่น้องปอนด์มีอารมณ์ร่าเริง คุยเก่ง มีมุขตลก ชอบทำให้คนรอบข้างหัวเราะมีความสุข กลับต้องมาเป็นเด็กที่นอนโดยมีท่อต่างๆ สอดเข้าทั้งจมูกและปาก เป็นภาพที่ไม่มีใครอยากเห็นแน่ๆ

เรายังโชคดีที่ห้องไอซียูของโรงพยาบาลเอกชนแห่งนี้มีทีมพยาบาลที่ให้ความช่วยเหลือได้ดีมากๆ เป็นห่วงเป็นใยน้องปอนด์ จึงทำให้พวกเราสมาชิกในครอบครัวรู้สึกสบายใจในระดับหนึ่ง น้องปอนด์ไม่สามารถพูดได้แล้ว เพราะมีท่อช่วยหายใจสอดอยู่ในปาก เวลาจะสื่อสารจึงต้องใช้ดินสอเขียนบนกระดาษ และพวกเราต้องพยายามช่วยกันตีความหมาย เป็นที่ครื้นเครงได้ในช่วงเวลาเศร้าๆ ของพวกเรา

และยังโชคดีที่ทางห้องไอซียู อนุญาตให้คุณแม่ของน้องปอนด์ ซึ่งเป็นพี่สาวของผมเองนอนค้างคืนได้ด้วยในห้องนั้น (ห้องไอซียูที่นี่เป็นห้องเดี่ยว) จึงทำให้น้องปอนด์ไม่เหงา

พวกเราแวะเวียนกันไปเยี่ยมน้องปอนด์ และอยู่เป็นเพื่อนน้องปอนด์ทุกวัน และบรรดาเพื่อน ญาติๆ และคนรู้จัก ต่างแวะเวียนกันมาเยี่ยมบ่อยๆ พวกเราก็ไม่รู้ว่าจะต้องอยู่อีกนานเท่าไหร่ อาการของปอดก็ดีขึ้น แต่ก็ยังคงติดเชื้ออยู่ จึงยังจำเป็นต้องอยู่ในห้องไอซียูต่อ ผมคุยกับน้องปอนด์ว่า เออ.. ถ้าหายแล้วเนี่ย..น้องปอนด์ต้องมาเล่าให้ กู๋ ฟังด้วยนะว่ารู้สึกยังไง แล้วเราจะมาบันทึกไว้ น้องปอนด์จะต้องมาเขียนเป็นหนังสือเล่าไว้นะว่าช่วงชีวิตที่อยู่ในห้องไอซียูนี้ เป็นอย่างไร เพราะเข้าใจว่าน้องปอนด์คงจะอึดอัดมาก และคงจะมีหลายๆ คนที่อยากรู้ว่าคนที่ต้องเข้าไอซียู เป็นอย่างไร และควรจะต้องป้องกันตัวเองอย่างไรให้ห่างๆ จากห้องไอซียู นี้

ผมได้ถ่ายรูปของน้องปอนด์ตอนใส่ท่อหายใจเก็บไว้แค่รูปเดียวเอง.. เพราะมันเศร้าน่ะครับ..

31-Jan-2008 วันแรกในห้อง ไอ.ซี.ยู.

บล็อกนี้ ผมตั้งใจจะบันทึกเพื่อเป็นความทรงจำ สำหรับช่วงเวลาที่น่าเศร้าสำหรับครอบครัวของผม จึงอยากจะเก็บไว้เป็นสิ่งเตือนใจพวกเรากันเองภายในครอบครัว แม้ว่าจะเป็นช่วงที่พวกเราทุกคนเศร้าใจที่น้องปอนด์ หลาน ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของทุกๆ คนในครอบครัว ต้องมาป่วยหนัก และใช้ชีวิตอยู่ในห้อง ไอ.ซี.ยู. เป็นระยะเวลาเกินหนึ่งเดือนแล้ว แต่พวกเราก็ได้รับรู้ว่าพวกเรายังคงเข้มแข็ง และมีความรักซึ่งกันและกันอย่างเหนียวแน่น

น้องปอนด์เริ่มมีอาการซึม พูดน้อย ทานข้าวได้น้อย และหายใจถี่ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา น้องปอนด์แทบไม่ได้ป่วยอะไรเลยตลอดระยะเวลากว่าสามปีที่ผ่านมา และอย่างมากก็เป็นหวัดนิดหน่อย เมื่อเทียบกับเมื่อก่อนที่มักจะป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลเป็นอาทิตย์ๆ และมักจะมีอาการเสมหะอุดตันหลอดลม ต้องใช้ยาขยายหลอดลม Sibutrimal มาช่วย ซึ่งไม่ได้ใช้มานานมากแล้ว

ในครั้งนี้ไม่ได้มีอาการของเสมหะอะไรเลย เราจึงไม่คิดว่าเป็นอะไรมาก ได้แต่ตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะเป็นเพราะกระดูกสันหลังคดเป็นรูปตัว S มากขึ้นมั้งจึงได้กดทับปอด และหายใจลำบากขึ้น จนกระทั่งคิดว่าพาไปหาหมอดีกว่า เพราะอาการไม่ได้ดีขึ้น และไม่ได้มีอาการของหวัด หรือเสมหะแต่อย่างใด จึงอยากจะปรึกษาหมอเพื่อขอคำแนะนำ

ปรากฎว่า เมื่อได้พบคุณหมอ ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง (ขอไม่เอ่ยนามนะครับ) ระหว่างรอพบคุณหมอ นางพยาบาลได้มีเครื่องสำหรับตรวจชีพจรและระดับออกซิเจนในเลือด แล้วตกใจ เพราะหัวใจเต้นเร็วประมาณ 130 กว่า และระดับออกซิเจนอยู่แค่ 40-50 เท่านั้น (ในคนปกติหัวใจเต้นอยู่ราวๆ 60-80 และระดับออกซิเจนอยู่ช่วง 95 ขึ้นไป) เมื่อคุณหมอได้เห็นจึงบอกให้รีบเอาไปให้ออกซิเจนโดยด่วน เพราะออกซิเจนในเลือดต่ำมากๆ

หลังจากให้ออกซิเจนได้สักพักใหญ่ ระดับออกซิเจนเพิ่มขึ้นมาเป็นราวๆ 90 คุณหมอแนะนำให้พ่นยาขยายหลอดลม ปรากฎว่าน้องปอนด์หายใจไม่ทัน และระดับออกซิเจนลดต่ำลงไปอีกครั้ง และมีอาการไม่รู้สึกตัว ทางทีมคุณหมอและพยาบาลจึงรีบส่งน้องปอนด์เข้าไปห้องไอซียู ตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 31 ม.ค. 2551 ที่ผ่านมา

วันนั้นนอกจากน้องปอนด์ กับผม ซึ่งเป็นอากู๋แล้ว ก็มีพี่ๆ ของผม ซึ่งเป็นแม่ของน้องปอนด์ และพี่สาวอีกคนซึ่งเป็นอาอี๊ ของน้องปอนด์ไปที่โรงพยาบาลด้วย ปกติแล้ว อาอี๊ จะเป็นคนที่ดูแลน้องปอนด์มากที่สุด จึงสนิทสนมกันมากๆ และเป็นคนที่ทั้งป้อนข้าว อาบน้ำ และอื่นๆ สารพัด ในระหว่างที่แม่น้องปอนด์ต้องออกไปทำงาน ที่บ้านของเราทำธุรกิจเล็กๆ ที่พออยู่ได้และทำให้พวกเรามีเวลาดูแลหลานซึ่งเป็นเด็กต้องการการดูแลเป็นพิเศษได้

พวกเราเป็นห่วงน้องปอนด์มาก เพราะไม่เคยมีใครในครอบครัวที่ต้องเข้าไอซียู เลย และคุณหมอก็พูดในทำนองว่า ทำใจด้วยนะ ที่ต้องเข้าไอซียู นี่แปลว่าหนักมากแล้วนะ พวกเราน้ำตาซึมกันทุกคน เพราะงง.. ว่าอะไรหว่า.. เมื่อเช้าก็ยังดีๆ อยู่ ทำไมถึงได้ทรุดลงเร็วขนาดนี้ แปลกมากๆ และคงทำใจไม่ได้ถ้าหากจะต้องเกิดอะไรร้ายแรงขึ้น

อาการน้องปอนด์ไม่ดีขึ้น คุณหมอท่านแรกได้พยายามอธิบายว่า จะต้องสอดท่อเข้าทางปากเพื่อใช้เครื่องช่วยหายใจแล้วนะ.. พวกเราก็ตกใจอีก ว่ามันร้ายแรงขนาดนั้นเลยหรือ? แต่เอาไงก็เอา ต้องเชื่อคุณหมอแล้วล่ะตอนนี้.. ปรากฎว่าคุณหมอท่านแรกสอดท่อไม่เข้า เพราะน้องปอนด์มีรูปร่างไม่ปกติ จึงต้องตามคุณหมออีกแผนกหนึ่งที่ถนัดในการให้ยาสลบมาช่วยสอดท่อหายใจให้น้องปอนด์ จึงสามารถสอดได้ และทำให้น้องปอนด์มีระดับต่างๆ ที่ดีขึ้น และมีสติที่ดีขึ้น แต่นั่นก็ทำให้เราไม่ได้ยินเสียงของน้องปอนด์อีกเลยตั้งแต่วันนั้น ซึ่งปกติน้องปอนด์จะเป็นเด็กช่างพูด เสียงเจื้อยแจ้วอยู่ทั้งวัน แต่จนถึงวันทีผมเขียนบันทึกอยู่นี้ เราไม่ได้ยินเสียงของน้องปอนด์อีกเลย...

เล่าเรื่องของน้องปอนด์ก่อน

ต้องขอแนะนำก่อนครับ ว่า บล็อกนี้ บันทึกโดยผม เป็นอากู๋ของเด็กชายอายุ 11 ขวบคนหนึ่ง ชื่อว่าน้องปอนด์ ซึ่งเป็นเด็กน่ารักมากๆ คนหนึ่ง แต่เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงมาแต่เกิด และมีอาการแขนขาไม่มีแรง และกระดูกสันหลังคด ตั้งแต่เด็กๆ คุณหมอได้วินิจฉัยว่าเป็น SMA (Spinal Muscular Athropy)

ตลอดชีวิตของน้องปอนด์ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เหมือนกับคนอื่นๆ ทั่วๆ ไป คือต้องนั่งรถเข็น และต้องให้คุณครูมาสอนพิเศษที่บ้าน แต่ชีวิตของน้องปอนด์ก็ได้รับความรักจากคนรอบข้าง ทั้งสมาชิกในครอบครัว และใครๆ ก็ตามที่ได้รู้จักน้องปอนด์ จะเห็นว่าน้องปอนด์เป็นเด็กที่ฉลาด มองโลกในแง่ดี (น้องปอนด์ไม่มีปัญหาทางสมอง จัดว่าเป็นเด็กฉลาดเลยทีเดียว)

น้องปอนด์เกิดเมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2539 ตั้งแต่ตอนเด็กๆ ได้รับรู้ว่ามีอาการที่ผิดปกติ แตกต่างจากเด็กคนอื่นๆ เพราะไม่สามารถนั่ง หรือตั้งคอเองได้ เมื่ออายุได้ประมาณ 6 เดือน จึงได้ไปพบแพทย์ และก็รับทราบถึงความผิดปกติ จนกระทั่งโตขึ้นราวอายุ 1 ขวบกว่าๆ ก็จึงได้เริ่มไปทำกายภาพที่โรงพยาบาลรัฐบาลแห่งนั้น จนกระทั่งอายุได้ราวๆ 4 ขวบก็ได้หยุดพัก เพราะมีอาการไม่สบายเป็นๆ หายๆ และข้อเท้า ข้อมือ และกระดูกสันหลังเริ่มยึด และคดงอมากขึ้น

จนกระทั่งอายุราว 5-6 ขวบ น้องปอนด์ได้ไปบำบัดในสถานกายภาพบำบัดสำหรับเด็กแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เป็นเวลาราวๆ 2 ปีกว่าๆ ในช่วงเวลานั้นน้องปอนด์ไม่สบายบ่อยมาก อาจเพราะได้รับเชื้อจากเด็กที่อยู่ในสถานบำบัดร่วมกัน จึงต้องเข้า-ออกโรงพยาบาลเป็นประจำ จนกระทั่งน้องปอนด์อายุได้ราว 8 ขวบ น้องปอนด์ติดตามคุณแม่ไปทำงานที่ต่างประเทศจึงหยุดการไปสถานบำบัดเอกชนดังกล่าว

หลังจากกลับมา น้องปอนด์มีความแข็งแรงมากขึ้น โตขึ้น น้ำหนักเพิ่มขึ้นเป็นน้ำหนักเฉลี่ยที่ 23-25 กก. และทางบ้านก็ได้ย้ายบ้านออกมาชานเมืองกรุงเทพฯ จึงได้เปลี่ยนสถานบำบัดทางกายภาพมาเป็นที่โรงพยาบาลรัฐบาลอีกแห่งหนึ่ง จนกระทั่งปัจจุบัน

น้องปอนด์ได้รับการเข้าเฝือกเพื่อดัดกระดูกข้อเท้า และหัวเข่า เป็นเวลานานกว่า 6 เดือนเมื่อปี 2007 ที่ผ่านมา และได้เกิดแผลกดทับบริเวณตาตุ่มทั้งสองข้าง ผลที่ได้ทำให้ข้อเท้าได้รูปร่างที่ดีขึ้นจนเกือบเป็นปกติ ต้องขอขอบพระคุณคุณหมอ (ไม่ขอเอ่ยชือในที่นี้) เป็นอย่างมาก แต่ข้อเข่าไม่สามารถยึดได้ด้วยการเข้าเฝือก เพื่อให้เข้ารูปร่างปกติ

และจะกลับมาเล่าต่อไปนะครับ